ขั้นตอนการ "เคลือบแก้ว" - ชิลคาร์แคร์ เคลือบแก้ว เคลือบเซรามิ
ขั้นตอนการ "เคลือบแก้ว"
หลายๆท่านถามมา ว่าการเคลือบแก้วของทางร้าน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
เดี๋ยวผมจะอธิบายขั้นตอนเพื่อให้เข้าใจง่ายๆก่อน ตามนี้นะครับผม ^^
ขั้นที่ 1 - ล้างรถ
ก่อนจะทำอะไรก็ต้องล้างรถก่อนครับ อย่างแรกคือต้องไล่ดูเรื่องคราบที่ฝังแน่นอยู่บนตัวรถให้เรียบร้อยก่อนครับ ถ้าทำความสะอาดได้ไม่ดี ขั้นตอนที่ละเอียดมากขึ้นถัดไปจะยิ่งยาก
ทั้งคราบฝังแน่นต่างๆ คราบแมลง คราบปูนซีเมนต์ ละอองสี ขี้นก ยางไม้ ฯลฯ คราบต่างๆที่เป็นก้อนแข็งอยู่ ต้องเอาออกให้หมดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
ขั้นที่ 2 - ลูบดินน้ำมัน
การลูบดินน้ำมันเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากๆสำหรับการเคลือบแก้วครับ จริงๆแล้วแทบจะเรียกว่าขาดไม่ได้เลยทีเดียว การลูบดินน้ำมันนั้น ทำเพื่อใช้ดินน้ำมัน ดึงสะเก็ดละอองสี ซึ่งฝังแน่นอยู่ในผิวสีรถหรือแลคเกอร์ออกมาครับ
ถามว่า ถ้าไม่ทำได้มั้ย...?
ได้ครับ แต่งานจะออกมาไม่เนียนมาก
ซึ่งดินน้ำมันที่ใช้ลูบรถเนี่ย ไม่ใช่ดินน้ำมันที่เด็กๆเค้าเอาไว้ปั้นเล่นกันเป็นรูปช้างม้าวัวควายนะครับ แต่เป็นดินน้ำมันชนิดพิเศษที่ออกแบบมาจำเพาะเจาะจงเพื่อใช้กับงานทำความสะอาดรถ หรืองาน Detailing เลยทีเดียว
ดังนั้น ก้อนนึงจะไม่ใช่หลัก 10-20 บาท แต่เป็นหลักร้อย ถึงหลายร้อยเลยทีเดียวครับ แถมอายุการใช้งานก็ค่อนข้างจำกัดด้วย ยิ่งเราดึงคราบออกจากรถได้เยอะ คราบนั้นก็จะไปฝังที่ดินน้ำมันแทน นานเข้า ดินน้ำมันก้อนนั้นก็จะใช้งานไม่ได้ เพราะสกปรกไปหมด เต็มไปด้วยฝุ่นหินดินทราย ก็ต้องเปลี่ยนก้อนใหม่ เพื่อจะได้งานที่สะอาดสวยงามต่อไป
บางครั้ง เราอาจจะเห็นโฆษณาที่มีการขายน้ำยาเคลือบแก้ว แล้วให้ผู้ซื้อ เอามาทำเอง แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดต่างๆในการทำงานสักเท่าไหร่
การลูบดินน้ำมันนี่ล่ะครับ ตัวสำคัญเลย ถ้าจะเริ่มงานขัดสีรถ และเคลือบแก้ว แต่ไม่ลูบดินน้ำมัน ก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้ว่า รถที่ได้หลังเคลือบแก้ว น่าจะไม่ใน ไม่เรียบ ไม่ลื่นอย่างแน่นอนครับผม ^^
ขั้นที่ 3 - ขัดสี
จริงๆคือการเตรียมผิวก่อนเคลือบแก้วนั่นแหละครับ แต่กระบวนการส่วนใหญ่ จะเป็นงานขัดสีเสียมากกว่า ซึ่งถ้าเอาละเอียดจริงๆ ก็ต้องไล่งานขัด ตั้งแต่หยาบ มาจนละเอียดไปเลย จะได้ผิวสีแลคเกอร์ที่สวยงามที่สุดครับ
นอกจากการขัดสีโดยทั่วไปแล้ว ก็ยังต้องมีการขัดลบรอยด้วย บางจุดนั้นมีรอยที่ค่อนข้างลึก ก็ต้องลบรอยให้ออกได้มากที่สุดครับ ไม่งั้นพอเคลือบแก้วไป รอยนั้นไม่หาย ก็จะฝังอยู่ใต้ชั้นเคลือบแก้วไปอย่างนั้น ถ้าเล็กน้อยก็อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเยอะ ก็อาจจะไม่สวยได้นั่นเองครับผม ^^
ขั้นที่ 4 - เช็ดทำความสะอาดผิวขั้นสุดท้ายก่อนลงน้ำยาเคลือบแก้ว
ขั้นตอนนี้หลักๆคือการเก็บผงขัดที่จะเกิดขึ้นตอนที่เราขัดสีรถครับ ผงขัดนี้ไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับผิวรถเรา แต่ถ้าติดอยู่แล้วไม่เป่าออกหรือเก็บให้ดี ก็อาจทำให้เคลือบแก้วไม่สวยในบางจุดได้ ซึ่งเราคงไม่ต้องการแบบนั้น (ทำมาขนาดนี้แล้ว เก็บอีกหน่อยจะเป็นไรไปจริงไหมครับ)
บางครั้งก็ต้องใช้น้ำยา Detailer เช็ดคราบออกให้เกลี้ยงด้วย จะได้ไม่มีคราบมันๆฝังอยู่ทำให้ผิวรถไม่สวยได้ครับ
ขั้นที่ 5 - ลงน้ำยาเคลือบแก้ว
ขั้นตอนนี้คือหัวใจของงานนี้เลยครับ จริงๆไม่มีอะไรยากหรือซับซ้อนมากนัก ก็แค่ใช้น้ำยาปาดลงไปบนผิวหน้าที่สะอาดสุดๆของรถเราที่เตรียมผิวมาแล้ว และใช้ผ้าสะอาดอีกผืน เช็ดเก็บคราบน้ำยา ทั้งเกลี่ยให้น้ำยานั้นครอบคลุมไปทั่วบนพื้นผิวอย่างเสมอทั่วกัน
สิ่งที่ต้องระวังคือ การเก็บคราบที่เหลือตกค้าง ต้องระมัดระวังให้มากที่สุดครับ ถ้าสายตาไม่ดีพอ ทิ้งคราบไว้ มันก็จะแข็ง เอาไม่ออกเลยทีเดียว ก็ต้องมาขัดเปิดหน้ากันอีกรอบ แล้วลงเคลือบแก้วใหม่อีก เสียทั้งเวลา เสียทั้งต้นทุนไปเปล่าๆครับ ^^
อ้อ..ที่สำคัญ การลงเคลือบแก้วนั้น มีวิธีการทำงานที่ค่อนข้างหลากหลาย รวมไปถึง "จำนวนชั้นเคลือบ" ของงานเคลือบแก้วด้วย
น้ำยาเคลือบแก้วแต่ละยี่ห้อ ก็จะมีทั้ง Base Coat , Top Coat , Multi Coat ซึ่งจะมีวิธีใช้งานต่างกัน รวมไปถึง การผสมน้ำยา และการใช้น้ำยาแต่ละชนิดเคลือบแต่ละชั้นก็มีรายละเอียดต่างกันออกไปอีก
เช่น การจะเคลือบ Base Coat ลงไปบน Base Coat ต้องทิ้งไว้ประมาณ 1 ชม. แต่ถ้าจะลง Top Coat ทับไปบน Base Coat ต้องทิ้งไว้ 2-4 ชม. เป็นต้นครับ
ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ จะค่อนข้างซับซ้อนมากอยู่เหมือนกัน ต้องระวังให้ดีว่า น้ำยาที่เราใช้เคลือบนั้น เป็นสารจำพวกไหน (Base/Top/Multi) ซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีในระยะยาวมากที่สุด ก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเช่นกันครับ
ขั้นที่ 6 - After Service หรือ การทำเซอร์วิสเคลือบแก้ว
ขั้นตอนนี้ คือการดูแลหลังจากที่เราเคลือบแก้วไปแล้ว สักระยะหนึ่ง อาจจะเดือนนึง หรือ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็แล้วแต่รถแต่ละคัน หรือแล้วแต่ร้านแต่ละร้านไปนะครับ
ส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างจะรู้สึกว่า รถแต่ละคัน มีการใช้งานที่แตกต่างกันเยอะมาก การที่กำหนดระยะเวลาตายตัว ให้เข้ามาทำเซอร์วิส ทุกๆ 3-4 เดือน เท่าที่ผมเจอลูกค้ามา ค่อนข้างจะไม่เหมาะสมกับรถทุกคนเท่าไหร่ครับ
เพราะบางคันใช้รถหนัก บางคันจอดตากแดดตากฝนตลอด บางคันไปจอดที่ทำงานก็เจอฝุ่นคาร์บอน หรือบางคันต้องขับใกล้ๆทะเล ก็จะมีปัจจัยต่างๆที่ทำอันตรายรถได้แตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน
ผมเลยมักจะบอกลูกค้าที่ร้านผมเองว่า ให้คอยดูผิวรถเป็นระยะๆ จะดีกว่าครับ ถ้าเรารู้สึกว่า รถไม่เงาแล้ว หรือมีคราบน้ำเช็ดไม่ออก หรือฝุ่นเกาะเยอะผิดปกติ หรือมีละอองสีที่เอาออกยาก ก็ให้กลับมาตรวจสภาพผิวเป็นระยะๆ หรือทำเซอร์วิสในเวลาที่เรารู้สึกว่า รถเราเริ่มไม่เงาใสเหมือนก่อน น่าจะดีที่สุดครับ
ลูกค้าบางคันก็มาบ่อย เดือนละ 1-2 ครั้งก็มี บางคันก็ 5-6 เดือนครั้ง หรือบางคัน ไม่มาเลยทั้งปี แต่พอสิ้นปีทีนีง ก็มาเคลือบแก้วใหม่เลยก็มีเหมือนกันครับ
เพราะฉะนั้น ผมเลยคิดว่า รถแต่ละคัน ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่เจ้าของรถ ผมคงตอบไม่ได้ว่าแบบไหนเหมาะที่สุด ซึ่งเจ้าของรถน่าจะรู้และเข้าใจสภาพรถตัวเองมากกว่า ถ้ารู้สึกถึงปัญหา ก็เข้ามาที่ร้านผมได้เลยนั่นเองครับ ^^
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น