ว่าด้วยเรื่อง "ยางแตก"
"ยางแตก" ที่กลายเป็นปัญหา "โลกแตก"
หลายๆท่าน อาจจะมองข้ามปัญหา "ยางแตก" หรือ "ยางแบน" ไปได้ง่ายๆ
ถ้ายังไม่เคยเจอกับตัวเองจังๆ
ถ้าเป็นสมัยก่อน รถส่วนใหญ่ จะมียางอะไหล่ แถมมาให้กับตัวรถด้วยเลย
มันก็จะอยู่ในที่เก็บใต้กระโปรงหลัง หรือด้านใต้ท้องรถด้านหลังของรถกระบะ
ซึ่งถ้าใครที่มีสกิล เปลี่ยนยางเองได้ ปัญหาพวกนี้ก็มักจะไม่ค่อยทำให้รู้สึกกวนใจได้มากนัก
ยางแตกตรงไหน ก็จอดรถข้างทาง เปลี่ยนยางเอง เสียเวลาสักครึ่งชั่วโมง หรือชั่วโมงนิดๆ ก็เรียบร้อย มือเลอะนิดหน่อย เปลี่ยนยางอะไหล่เสร็จ วิ่งหาร้านปะยาง หรือร้านเปลี่ยนยาง ก็เป็นอันจบ
แต่
หลายๆครั้ง ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
เท่าที่ผมเจอ คนที่เจอปัญหายางแตกแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็มักจะมีสาเหตุไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก
เช่น
เปลี่ยนยางเองไม่เป็น
อันนี้แก้ไขได้ครับ ก็ลองหัดเปลี่ยนยางเอง ไม่กี่ทีก็ทำได้แล้ว แต่... สำหรับสุภาพสตรีส่วนใหญ่ ที่สรีระ ไม่ได้เอื้อต่อการก้มๆเงยๆ ยกยางออก เอายางใหม่เปลี่ยนเข้าไป (ยางเส้นนึงหนักเป็นสิบกิโล ถึงหลายสิบกิโลก็มี)
บางครั้งเราก็พบว่า การจอดรอแล้วเรียกร้านรบปะยาง 24 ชม. มาทำให้ ดูจะง่ายกว่า หรือถ้าใครมีประกันรถยก ก็ใช้บริการได้เลย แค่นั่งรอสักหน่อยเท่านั้น แป๊บเดียวรถยกมา ก็จบปัญหาเรียบร้อย
....
แต่ สำหรับท่านใด ที่ไม่มีประกันรถยก หรือติดขัดเรื่องการเปลี่ยนยางอะไหล่เอง วันนี้ผมจะมาแนะนำ วิธีป้องกัน กรณียางแตกโดยไม่คาดคิดให้ได้ฟังกันครับ เผื่อจะเป็นแนวทางไว้ป้องกันก่อนจะเกิดปัญหาขึ้นแล้วทำให้เราต้องเสียเวลา หรือเสียอารมณ์กันได้นั่นเองครับ
1. ยางอะไหล่รถเรา ใช้งานได้จริงหรือไม่?
อันนี้ต้องเช็คเป็นระยะครับ ไม่ต้องถี่ขนาดเช็คลมยางล้อหลัก 4 ล้อก็ได้ แต่สัก 3-6 เดือน ก็ลองเปิดดูยางอะไหล่ เอามือกดดูว่าลมยางยังแน่นดีหรือเปล่าก็พอครับ
ปกติ ถ้ารถเราเติมลมยางอยู่ที่ 30-40 psi
ยางอะไหล่ก็ควรจะต้องเติมลมอัดเข้าไปมากกว่ายางปกติสัก 10-20% เพื่อให้เราไม่ต้องเติมบ่อยๆครับ
ผมเคยเจอปัญหาที่ร้านว่า ลูกค้ายางรั่ว พอจะเปลี่ยนยางอะไหล่ ก็พบว่า ยางอะไหล่แบนกว่ายางหลักที่รั่วเสียอีก นั่งคิดกันสักแปป ก็เลยเติมลมยางอะไหล่ แล้วเอามาเปลี่ยนใช้ชั่วคราวแทนยางหลัก เพราะไม่อยากให้แม็กของยางหลักเสียหาย เติมลมยางอะไหล่แล้วถ้าแบนหนักจริงๆขับบดไปดูจะเสี่ยงน้อยกว่า รวมถึง รอยรั่วที่ยางหลัก น่าจะเป็นความเสียหายที่มากกว่าที่ยางอะไหล่แบนแต่ไม่มีรูรั่วนั่นเองครับ
อีกเคสนึงก็คือ ยางหลักรั่วแบนติดพื้นเลย ส่วนยางอะไหล่ มีลมเต็มนะครับ แข็งเลย แต่.... เจ้าของรถบอกว่า ยางอะไหล่อายุเป็น 10 ปีแล้ว ไม่กล้าเปลี่ยนมาใช้ กลัวระเบิด
โอ้ว....
เป็นความคิดที่ค่อนข้างแปลกดี แต่ก็เข้าใจความกังวลของเจ้าของรถนะครับ
เพียงแต่ว่า
ยางปกตินั้น ต่อให้แข็งมากแค่ไหนก็ตาม หรือยางเสื่อมสภาพหนักแค่ไหนก็ตาม โอกาสที่จะแตกได้ง่ายๆเมื่อขับขี่ที่ความเร็วต่ำก็ค่อนข้างน้อยมากครับ
ขณะที่ล้อหมุน จะมีความร้อนเกิดขึ้นภายในตัวยาง ถ้ายางเก่ามากๆ การวิ่งเร็วๆก็เป็นความเสี่ยงได้ครับ แต่ถ้าเราขับไม่เร็ว มองหาร้านปะยางใกล้ๆในระยะ 1-2 กม. ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรครับ
ดังนั้น ทางที่ดี ก็ควรเช็คลมยางหรือสภาพยางอะไหล่ไว้แต่เนิ่นๆก็น่าจะดีกว่าครับ
ไม่งั้น ถ้ายางหลักแตก รั่ว แบน แล้วมียางอะไหล่แต่ไม่กล้าเปลี่ยนใช้ ผมว่าถอดยางอะไหล่เก็บไว้บ้าน รถจะเบาลงขึ้น ได้ประโยชน์มากกว่าครับ
ถ้ามียางอะไหล่ ก็ต้องมีไว้แล้วเอามาใช้ได้ครับ ถ้าใช้ไม่ได้ เสียประโยชน์ไปเปล่าๆ จริงไหมครับ ^^
2. ยางอะไหล่ใช้งานได้ แล้วอุปกรณ์เปลี่ยนยางล่ะ ใช้งานได้ไหม?
เคยเจอเคสนึงครับ ลูกค้ายางแบน พร้อมเปลี่ยนยาง แต่พอจะเปลี่ยนจริงๆ กลับพบว่า ตัวแม่แรงยกรถนั้น ยกรถได้สูงไม่มากพอ
เหตุเพราะ มีการนำรถไปยกสูงขึ้นมาเล็กน้อยครับ
ประกอบกับ พอยางแบน มันก็ทำให้รถกดต่ำลงมาเยอะมาก พอเราสอดแม่แรงเข้าไปยกรถ มันก็ดันรถขึ้นได้ เอายางที่แบนออกมาได้ แต่ระดับความสูง ยังสูงไม่พอที่จะเอายางอะไหล่ที่ลมยางเต็มใส่เข้าไปได้ครับ
วิธีแก้กรณีนี้คือ ปล่อยลมยางของยางอะไหล่ออกให้มากที่สุด เพื่อกดยางอะไหล่ให้แกนล้อต่ำพอจะดันเข้าไปเปลี่ยนได้ครับ
แน่นอนว่า วิธีนี้ค่อนข้างเสี่ยง ถ้าปล่อยลมยางเยอะเกินไป ก็อาจเจอปัญหาว่าเปลี่ยนยางแล้ววิ่งไม่ได้ก็มี
ซึ่งถ้าโชคดี ไปยางแบนที่ร้านคาร์แคร์ที่มีปั๊มลม ปัญหานี้ก็ไม่ค่อยเกิดครับ สามารถเติมลมเข้าไปทีหลังได้
แต่ถ้าดันไปยางแตกในที่เปลี่ยวหรือข้างทางที่ไม่มีอะไรเลย อันนี้ก็ลำบากล่ะครับ คงต้องเรียกใช้บริการปะยาง 24 ชม.ในบริเวณใกล้เคียงเอาแทน
ดังนั้น ทางที่ดี ลองตรวจสอบแม่แรงยกรถเพื่อเปลี่ยนยางไว้ก่อนด้วยก็ดีนะครับ ถ้ามันสูงไม่พอ อาจจะเตรียมไม้หมอนหนาๆติดรถไว้สักชิ้นสองชิ้น ก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวครับผม ^^
3. เตรียมหาเบอร์ของบริการปะยาง 24 ชม. หรือปะยางนอกสถานที่ไว้แต่เนิ่นๆ
แน่นอนว่าถ้าเราเปลี่ยนยางอะไหล่เองได้ คงดีและง่ายที่สุด
แต่ถ้าไม่ได้ หรือไม่สะดวกด้วยเหตุผลกลใด
การมีทางเลือกฉุกเฉินไว้ย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่า
เราถึงพบเห็นบริการปะยางนอกสถานที่ หรือบริการที่คล้ายคลึงกันแบบนั้นครับ
คำแนะนำของผมคือ ให้เราเปิด Google Maps แล้วลองหาร้านปะยางที่อยู่ในละแวกที่เราใช้รถสม่ำเสมอแล้วปักหมุดหรือเซฟเบอร์เก็บไว้นั่นเองครับ
หลายครั้งเราพบว่า รถที่ยางแบนหรือแตกนั้น มักจะเกิดขึ้นในเส้นทางที่เราขับขี่ใช้งานเป็นประจำ เช่น เส้นทางไปกลับที่ทำงาน หรือละแวกบ้าน
มีน้อยครั้งที่เราจะไปยางแตกที่อื่นที่เราไม่ค่อยได้เคยไป
ส่วนใหญ่เจ้าของรถมักจะหาทางออกได้ง่ายๆเช่น โทรหาเพื่อนหรือครอบครัวที่มักจะติดต่อบริการเหล่านี้ให้ได้ หรือแม้แต่เรียกเพื่อนหรือญาติมาช่วยเปลี่ยนยางให้ก็มี
แน่นอนครับ การโทรหาเพื่อนมาช่วย เป็นทางเลือกที่ไม่เลวจริงๆ
แต่ถ้าตอนนั้นเป็นยามวิกาล ดึกแล้ว หรือเราไม่มีทางเลือกอื่น
การเปิดมือถือเข้า Google ก็เป็นวิธีที่ดีมากๆ
ซึ่งสมัยนี้ การเปิดโทรศัพท์ Search Google เป็นอะไรที่ทำได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมากจริงๆ ยกความดีให้เทคโนโลยีกันเลยครับ
พอเข้าเน็ตแล้ว ก็ลองหาเบอร์หรือร้านที่ให้บริการเกี่ยวกับยาง ก็น่าจะเจอได้ไม่ยากครับ แน่นอนว่า บางครั้ง ค่าบริการก็อาจจะสูงตามขึ้นมาด้วยได้เช่นกัน
** เสริมนิดนึงนะครับ
สำหรับเจ้าของรถที่เป็นสุภาพสตรี
ผมแนะนำว่า หากท่านไปยางแตกในที่เปลี่ยวหรือยามวิกาลไกลจากความช่วยเหลือจริงๆ ก็ต้องระวังเรื่องมิจฉาชีพไว้ด้วยสักหน่อยก็ดีนะครับ
บางครั้ง สาเหตุที่ยางแตก อาจจะเพราะผู้ไม่ประสงค์ดี เอาตะปูหรือเหล็กแหลมมาวางดักรถเราไว้ในที่เปลี่ยวก็เป็นได้
ถ้าเราไปกับเพื่อนกับคนรู้จัก ก็คงเบาใจได้หน่อย
แต่ถ้าเราไปคนเดียว ก็อยากให้เพิ่มความระวังให้มากขึ้นนะครับ
บางครั้ง หากโทรหาใครไม่ติด หรือขอความช่วยเหลือได้ลำบาก ก็อาจโทรหา กู้ภัย ตำรวจ หรือผู้ให้บริการฉุกเฉินอื่นๆไว้บ้างก็ได้นะครับ
รวมไปถึง ผู้ให้บริการมือถือของเรา
หลายๆครั้ง ค่ายโทรศัพท์จะมีบริการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ด้วยนะครับ ลองตรวจสอบดูไว้ก่อนก็ไม่เลวเช่นกันครับ
เช่นเดียวกัน รถเรายี่ห้อไหน บางทีก็เจ้าของแบรนด์ก็จะมีบริการสายตรงฉุกเฉินให้ติดต่อได้ด้วยนะครับ เป็น Call center ของแบรนด์รถนั้นๆเลย
หรือแม้แต่บริษัทประกัน ที่เราทำประกันรถยนต์ไว้ บางทีก็มีสายตรงให้ติดต่อเวลาเจอปัญหาฉุกเฉินได้เช่นกันนะครับ
ลองตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ เพื่อเป็นทางออกฉุกเฉินไว้บ้าง จะมีประโยชน์มากๆเลยครับผม ^^
4. ตรวจสอบ ประกัน หรือบริการหลังการขายของร้านยาง
สมมติว่า การนำรถออกจากจุดที่ยางแตกนั้น เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว
แต่ปัญหาคือ ยางของเราที่แตกนั้น กลับไม่มีประกัน ทั้งที่ซื้อมาแค่ 2 เดือนเท่านั้นเอง
มันก็มีนะครับ กรณีที่เราซื้อยางในราคาถูก แต่ยางนั้นไม่มีประกันหรือบริการเสริมที่จำเป็น ทำให้เราต้องเสียเงินซื้อยางใหม่อีกเส้นไปโดยปริยาย
ดังนั้น ให้เช็คกับร้านที่ขายและเปลี่ยนยางให้เราให้ดีก่อนนะครับ
ว่ายางของเรานั้น มีบริการหลังการขายอะไรบ้าง
ถ้าแตกภายในกี่เดือน มีประกันมั้ย? หรือมีบริการอื่นที่ช่วยเหลือเราได้ไหม?
พวกนี้สอบถามไว้ก่อนไม่เสียหายครับผม
เผลอๆ ทางร้านอาจจะมีบริการรถยกมาช่วยเหลือเราอีกทางก็เป็นได้นะครับ
แถมถ้าอยู่ในประกัน อาจจะเปลี่ยนยางใหม่ได้ฟรีก็เป็นไปได้เหมือนกันครับผม ^^
...
...
...
โดยสรุปแล้ว
การเจอปัญหายางแตก ยางแบน ยางรั่ว
นอกจากทำให้เราเสียเวลาแล้ว ก็อาจทำให้เราเสียเงินได้ด้วยเช่นกัน
ยังไม่รวมถึง กรณีที่เราต้องไปยางแตกในที่เปลี่ยว ความเสี่ยงเรื่องอื่นก็อาจตามมาด้วยได้เช่นกัน
ทางที่ดี เช็คและหาทางป้องกันเรื่องเหล่านี้ไว้ก่อนก็ไม่เลวนะครับ
ถ้าเราเปลี่ยนยางเองได้
เช็คยางอะไหล่ เช็คอุปกรณ์เปลี่ยนยางไว้ก่อนครับ
ถ้าเราเปลี่ยนยางเองไม่ได้
หรือกลัวเจอปัญหาไม่คาดคิด
ให้หาเบอร์ติดต่อหรือช่องทางการติดต่อเหล่านี้ไว้ก่อนครับ
- เบอร์ติดต่อ เพื่อน ญาติ คนรู้จักที่ช่วยเหลือเราได้
- เบอร์ร้านปะยางนอกสถานที่
- เบอร์ฉุกเฉิน จาก ค่ายรถยนต์ของเรา
- เบอร์ติดต่อสายด่วนค่ายมือถือ (ถ้าเขามีบริการ)
- ประกันของรถเรา (ตัวแทนเคลมมักจะรู้จักกับร้านในพื้นที่ หรือถ้าดึกมากๆ พนักงานเคลมก็ยังมาอยู่เป็นเพื่อนได้ครับ)
- กู้ภัย / ผู้ให้บริการฉุกเฉินทางหลวง
ที่เหลือก็คือ "สติ" ของเราครับ
ถ้ามันดูไม่น่าปลอดภัยมากๆ ก็ต้องระวังให้มากยิ่งกว่านะครับ
ขอให้ทุกท่านไม่เจอปัญหา "ยางแตก" จนกลายเป็นปัญหา "โลกแตก" นะครับผม
^_____________^
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น